Month: เมษายน 2021

รับใช้ผู้ต่ำต้อยที่สุด

ชื่อของเขาคือสเปนเซอร์ แต่ทุกคนเรียกเขาว่า “สเปนซ์” เขาเป็นแชมป์แข่งขันกรีฑาระดับมัธยมปลายของรัฐ จากนั้นเขาได้รับทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกาและได้รับการยอมรับอย่างสูงในงานด้านวิศวกรรมเคมี แต่ถ้าคุณถามสเปนซ์ถึงความสำเร็จสูงสุดจนถึงวันนี้ เขาจะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านั้นเลย แต่จะเล่าอย่างตื่นเต้นเรื่องการเดินทางไปประเทศนิคารากัวทุกๆ 2-3 เดือนเพื่อเยี่ยมเด็กๆและครูในโครงการกวดวิชาที่เขาช่วยก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ เขาจะบอกคุณว่าชีวิตของเขามีคุณค่ามากขึ้นเพียงใดเมื่อได้รับใช้คนเหล่านี้

“ผู้ต่ำต้อยที่สุด” เป็นวลีที่มีการใช้ในหลายรูปแบบ แต่พระเยซูทรงใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงผู้คนที่โดยมาตรฐานของโลกแล้วเขาแทบจะไม่สามารถตอบแทนการช่วยเหลือที่เราให้ได้เลย เขาเหล่านั้นเป็นทั้งชาย หญิง และเด็กที่โลกมักจะมองข้ามหรือไม่ก็ถูกลืมอย่างสิ้นเชิง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่พระเยซูทรงยกให้อยู่ในสถานะที่สวยงามโดยตรัสว่า “ซึ่งท่านได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้...ก็เหมือนได้กระทำแก่เราด้วย” (มธ.25:40) คุณไม่จำเป็นต้องมีปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังเพื่อจะเข้าใจพระดำรัสของพระคริสต์ นั่นคือว่าการรับใช้ “ผู้ต่ำต้อยที่สุด” ก็เป็นเหมือนการรับใช้พระองค์ ทั้งหมดที่ต้องมีคือหัวใจที่เต็มใจ

แผนการที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ขณะที่ฉันกำลังสำรวจดูห้องสมุดชั้นล่างสุดของศูนย์ชุมชนแห่งใหม่ จู่ๆก็เกิดแรงกระแทกที่ทำให้ห้องสะเทือน สักพักก็เกิดขึ้นอีก ในที่สุดบรรณารักษ์ซึ่งไม่สบายใจก็อธิบายว่าเหนือห้องสมุดเป็นที่สำหรับยกน้ำหนัก และจะเกิดเสียงดังทุกครั้งที่มีคนวางที่ยกน้ำหนักลง สถาปนิกและนักออกแบบได้วางแผนส่วนต่างๆของอาคารที่ทันสมัยแห่งนี้เป็นอย่างดี แต่ยังมีคนลืมจัดที่ตั้งห้องสมุดให้อยู่ห่างจากกิจกรรมเหล่านี้

แผนการในชีวิตของเราก็มักมีข้อผิดพลาดเช่นกัน เรามองข้ามข้อควรพิจารณาที่สำคัญ แผนการของเราอาจไม่ครอบคลุมถึงอุบัติเหตุหรือเรื่องที่ไม่คาดคิด แม้การวางแผนจะช่วยป้องกันปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ เวลาที่จำกัด และปัญหาสุขภาพ แต่กลวิธีที่รอบคอบที่สุดก็ไม่สามารถขจัดปัญหาทุกอย่างออกจากชีวิตได้ เราอยู่ในโลกยุคหลังสวนเอเดน

ด้วยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า เราจะพบสมดุลระหว่างการคิดถึงอนาคตอย่างรอบคอบ (สภษ.6:6-8) และการตอบสนองต่อความยากลำบาก พระเจ้าทรงมีพระประสงค์สำหรับปัญหาที่ทรงอนุญาตให้เกิดในชีวิตของเรา พระองค์อาจใช้สิ่งนั้นพัฒนาความอดทน เพิ่มพูนความเชื่อ หรือเพียงเพื่อนำเราเข้าใกล้พระองค์ พระคัมภีร์เตือนเราว่า “ในใจของมนุษย์มีแผนงานเป็นอันมาก แต่พระประสงค์ของพระเจ้านั่นแหละจะดำรงอยู่ได้” (สภษ.19:21) เมื่อเรายอมมอบเป้าหมายและความหวังในอนาคตไว้กับพระเยซู พระองค์จะทรงสำแดงว่าพระองค์ต้องการให้สิ่งใดสำเร็จภายในเราและผ่านชีวิตของเรา

พบความชื่นชมยินดีในการสรรเสริญ

เมื่อแรกที่ซี. เอส. ลูอิส นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษมอบชีวิตให้พระเยซู ท่านไม่ยอมสรรเสริญพระเจ้า ที่จริงท่านเรียกการสรรเสริญว่า “สิ่งกีดขวาง” ปัญหาของท่านคือ “การที่พระเจ้าเองเป็นผู้สั่งให้ทำเช่นนั้น” แต่ในที่สุดลูอิสตระหนักว่า “การสรรเสริญอยู่ในกระบวนการนมัสการ ที่พระเจ้าทรงสำแดงการสถิตอยู่ด้วย” แก่คนของพระองค์ แล้ว “ในความรักอันสมบูรณ์ร่วมกับพระเจ้า” เราจะพบความชื่นชมยินดีในพระองค์ซึ่งจะไม่มีการแยกจากกันอีกต่อไป “เช่นเดียวกับกระจกที่ได้รับแสงสว่าง” ก็ต้อง “ฉายแสงออกมา”

ผู้เผยพระวจนะฮาบากุกได้ข้อสรุปนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อน หลังจากบ่นกับพระเจ้าถึงความชั่วร้ายที่มาถึงพวกยูดาห์ ท่านได้เห็นว่าการสรรเสริญพระเจ้าทำให้ท่านพบความยินดี ไม่ใช่ในสิ่งที่พระองค์ทำแต่ในสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น ดังนั้นถึงแม้จะมีวิกฤติในประเทศหรือในโลก พระเจ้ายังทรงยิ่งใหญ่ ดังที่ท่านได้ประกาศว่า

“แม้ต้นมะเดื่อไม่มีดอกบาน หรือเถาองุ่นไม่มีผล ผลมะกอกเทศก็ขาดไป ทุ่งนามิได้เกิดอาหาร ฝูงสัตว์ขาดไปจากคอกและไม่มีฝูงวัวที่ในโรง ถึงกระนั้นข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระเจ้า” (ฮบก.3:17-18) และ “ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า”

ในขณะที่ซี. เอส. ลูอิส ตระหนักว่า “ทั้งโลกก้องกังวานไปด้วยเสียงสรรเสริญ” ฮาบากุกก็ยอมจำนนเช่นกันที่จะสรรเสริญพระเจ้าทุกเวลา เพื่อพบกับความยินดีเต็มล้นในพระองค์ผู้ซึ่ง “การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม” (ข้อ 6)

ที่ลี้ภัยของผู้ถูกปฏิเสธ

จอร์จ วิทฟิลด์ (ค.ศ. 1714-1770) เป็นนักเทศน์ที่มีของประทานและมีความสามารถที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ท่านนำคนเป็นพันๆมาเชื่อพระเยซู แต่ชีวิตท่านก็ยังมีคนไม่เห็นด้วย วิธีประกาศกลางแจ้งของท่าน (เพื่อรองรับคนจำนวนมาก) บางครั้งก็ถูกวิจารณ์จากผู้ที่สงสัยในแรงจูงใจของท่านและคิดว่าท่านควรพูดในที่มิดชิดภายในคริสตจักรเท่านั้น คำจารึกที่หลุมฝังศพของท่านคือท่าทีตอบสนองต่อคำวิจารณ์เหล่านั้น “ข้าพเจ้าพอใจที่จะรอจนถึงวันแห่งการพิพากษาเพื่อจะแก้ข้อสงสัยเกี่ยวกับชีวิตของข้าพเจ้า และหลังจากที่ข้าพเจ้าตายไปแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยากได้คำจารึกที่หลุมฝังศพนอกจากที่ว่า ‘นี่คือจอร์จ วิทฟิลด์ เขาเป็นคนเช่นไร ก็จะได้ประจักษ์ในวันอันยิ่งใหญ่นั้น’”

ในพันธสัญญาเดิม เมื่อดาวิดเผชิญกับคำต่อว่าที่รุนแรง ท่านได้มอบตัวเองให้พระเจ้าเช่นกัน เมื่อถูกซาอูลกล่าวร้ายว่าเป็นผู้นำกบฏและต้องซ่อนตัวในถ้ำจากกองทัพของซาอูลที่ใกล้เข้ามา ดาวิดบรรยายถึงการอยู่ “ท่ามกลางเหล่าสีหราช” ท่ามกลางผู้ที่ “ฟันของเขาทั้งหลายคือหอกและลูกธนู ลิ้นของเขาคือดาบคม” (สดด.57:4) แม้ในสถานการณ์ย่ำแย่ ท่านหันไปหากำลังใจจากพระเจ้า “เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ใหญ่ยิ่งถึงฟ้าสวรรค์ ความสัตย์สุจริตของพระองค์สูงถึงเมฆ” (ข้อ 10)

เมื่อผู้อื่นเข้าใจผิดหรือปฏิเสธเรา พระเจ้าทรงเป็น “ที่ลี้ภัย” (ข้อ 1) ขอให้พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญตราบนิรันดร์ในความรักเมตตาที่ไม่มีวันสูญสิ้น!

ความรักควบคุมเราไว้

เด็กหนุ่มชาวซามัวส่วนใหญ่มักจะสักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความรับผิดชอบต่อคนในเผ่าและหัวหน้าเผ่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทีมรักบี้ชายชาวซามัวจะมีรอยสักเต็มแขน ในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นที่ซึ่งการสักมีความหมายไปในด้านลบ ทีมซามัวรู้ว่ารอยสักนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับเจ้าภาพ พวกเขาจึงสวมปลอกแขนสีเดียวกับผิวปิดบังรอยสักไว้เพื่อแสดงถึงมิตรไมตรี “เราเคารพและให้ความใส่ใจ...ในวิถีของคนญี่ปุ่น” กัปตันทีมอธิบาย “เราจะต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราแสดงออกนั้นเหมาะสม”

ในยุคนี้ที่เน้นการแสดงออกส่วนบุคคล การจำกัดขอบเขตของตนเองจึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เปาโลเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือโรมว่าบางครั้งความรักทำให้เราสละสิทธิ์ของตนเพื่อผู้อื่น แทนที่จะดึงดันเสรีภาพไปจนสุดขอบ บางครั้งความรักก็ควบคุมเราไว้ ท่านอธิบายว่าบางคนในคริสตจักรเชื่อว่ามีอิสระที่จะ “กินอะไรอะไรก็ได้” แต่บางคนกิน “ผักเท่านั้น” (รม.14:2) สิ่งนี้อาจดูเป็นปัญหาเล็กน้อยสำหรับเรา แต่ในศตวรรษแรกการยึดถือกฎเรื่องอาหารในพระคัมภีร์เดิมสร้างความขัดแย้ง เปาโลสอนทุกคนว่า “อย่ากล่าวโทษกันและกันอีกเลย” (ข้อ 13) ก่อนจบด้วยคำกล่าวถึงผู้ที่กินอะไรก็ได้ว่า “เป็นการดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์หรือเหล้าองุ่นหรือทำสิ่งใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้พี่น้องสะดุด” (ข้อ 21)

ในบางครั้งการรักผู้อื่นหมายถึงการจำกัดเสรีภาพของตัวเราเอง เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างตามที่เรามีเสรีภาพที่จะทำ ในบางครั้งความรักก็จะคอยควบคุมเราเอาไว้

ไม่ว่าสถานการณ์ใด

วันที่ 28 มกราคม 1986 กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ของสหรัฐเกิดระเบิดขึ้นหลังจากทะยานขึ้นไปได้ 73 วินาที ในการกล่าวให้กำลังใจประชาชน ประธานาธิบดีเรแกนได้ยกบทกวี “บินสูง” ของจอห์น กิลเลสปี แม็กกี นักบินในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขียนถึง “พื้นที่บริสุทธิ์เบื้องบนที่ไม่มีผู้ล่วงล้ำ” และความรู้สึกของการยื่นมือออกไปสัมผัส “พระพักตร์พระเจ้า”

แม้เราไม่อาจสัมผัสพระพักตร์พระเจ้าได้จริง แต่บางครั้งการมองเห็นความสวยงามในยามอาทิตย์อัสดง หรืออยู่ในที่สงบเงียบของธรรมชาติก็ทำให้เรารู้สึกตื้นตันว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ บางคนเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ที่กั้นบางๆ” คือม่านกั้นระหว่างสวรรค์และโลกบางลงจนรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้เรามากขึ้น

ชาวอิสราเอลคงมีประสบการณ์กับ “ที่กั้นบางๆ” เมื่อรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้พวกเขาในทะเลทราย พระเจ้าประทานเสาเมฆตอนกลางวันและเสาไฟในตอนกลางคืนเพื่อนำพวกเขาผ่านทะเลทรายนั้น(อพย. 40: 34-38) ขณะตั้งค่ายอยู่ “พระสิริของพระเจ้าก็อยู่เต็มพลับพลานั้น” (ข้อ 35) พวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ด้วยในตลอดการเดินทางนั้น

ขณะที่เราเพลิดเพลินกับการทรงสร้างอันสวยงามอัศจรรย์ เรายิ่งได้รู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกที่ เมื่อเราคุยกับพระองค์ในคำอธิษฐาน สดับฟังพระองค์ และอ่านพระคำ เราจะเพลิดเพลินในสามัคคีธรรมกับพระองค์ไม่ว่าจะในเวลาหรือสถานที่ใด

มิตรสหายในพระคริสต์

งานวิจัยของฮาร์วาร์ดเรื่องพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่เป็นโครงการระยะยาวหลายสิบปีที่ส่งผลให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ งานวิจัยนี้เริ่มต้นกับกลุ่มนักศึกษาปีที่ 2 จำนวน 268 คนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงทศวรรษที่ 1930 แล้วขยายไปยังชาวเมืองชั้นในของบอสตัน 456 คน นักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมและเฝ้าดูบันทึกทางการแพทย์ทุกๆ 2-3 ปี พวกเขาพบว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการคาดคะเนความสุขและสุขภาพ ผลที่ได้คือถ้าเราถูกแวดล้อมด้วยคนที่ดีก็มีแนวโน้มว่าเราจะมีความสุขยินดีภายใน

เรื่องนี้สะท้อนถึงสิ่งที่อัครทูตเปาโลอธิบายในฟีลิปปีบทที่ 1 แม้จะเขียนจากในคุก เปาโลยังบอกมิตรสหายว่าท่านขอบพระคุณพระเจ้าทุกครั้งที่ระลึกถึงพวกเขา และอธิษฐาน “ด้วยความยินดี” (ข้อ 4) คนเหล่านั้นไม่ใช่แค่เพื่อนทั่วไป แต่เป็นพี่น้องในพระเยซูผู้ “ได้รับส่วนในพระคุณ” เป็นผู้ร่วมงานในข่าวประเสริฐกับเปาโล (ข้อ 7) ความสัมพันธ์นี้มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นสามัคคีธรรมที่หล่อหลอมโดยความรักของพระเจ้าและจากข่าวประเสริฐ

จริงอยู่ที่เพื่อนมีความสำคัญ แต่มิตรสหายในพระคริสต์ทำให้เกิดความยินดีที่แท้จริงและลึกซึ้ง พระคุณของพระเจ้าประสานเราเข้าด้วยกันในแบบที่ไม่มีใครทำได้ และแม้ในช่วงที่มืดมนที่สุดของชีวิต ความสุขยินดีที่เกิดจากความสัมพันธ์นั้นจะคงอยู่

ยึดมั่นในความจริง

ครอบครัวของฉันอาศัยในบ้านอายุเกือบร้อยปีที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง รวมถึงผนังที่ฉาบพื้นผิวอย่างสวยงาม ช่างก่อสร้างเตือนฉันว่าผนังแบบนี้ หากจะแขวนรูปภาพต้องเจาะตะปูเข้าไปยึดในเนื้อไม้หรือใช้พุกยึดผนัง ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงที่ภาพจะตกกระแทกพื้นทิ้งให้ผนังเป็นรูโหว่ไม่น่าดู

ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ใช้ภาพเปรียบเทียบของหมุดที่ตอกแน่นบนผนังเพื่ออธิบายถึงบุคคลที่ไม่มีบทบาทเด่นในพระคัมภีร์ชื่อว่าเอลียาคิม เขาไม่เหมือนเชบนาเจ้าพนักงานฉ้อฉล (อสย.22:15-19) และชาวอิสราเอลผู้แสวงหาความเข้มแข็งด้วยตัวเขาเอง (ข้อ 8-11) เอลียาคิมวางใจในพระเจ้า อิสยาห์ได้พยากรณ์ว่าเอลียาคิมจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการในวังให้กับกษัตริย์เฮเซคียาห์ท่านเขียนว่าพระเจ้าจะตอกเขาไว้เหมือน “ตอกหมุดในที่มั่นคง” (ข้อ 23) การยึดมั่นในความจริงและพระคุณของพระเจ้ายังทำให้เอลียาคิมกลายเป็นที่ยึดให้กับครอบครัวและคนของเขา (ข้อ 22-24)

กระนั้นอิสยาห์ได้สรุปคำพยากรณ์ด้วยคำเตือนที่จริงจังว่าไม่มีใครจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยที่ดีที่สุดให้เพื่อนหรือครอบครัวได้ เราทุกคนจะหลุดร่วงลงมา (ข้อ 25) หมุดยึดที่มั่นคงที่สุดในชีวิตเรามีเพียงผู้เดียวคือพระเยซู (สดด.62: 5-6; มธ.7:24) ในขณะที่เราดูแลและแบ่งเบาภาระผู้อื่น ให้เราชี้นำพวกเขาไปยังพระองค์ ผู้ทรงเป็นหมุดยึดที่มั่นคง

ในสวน

พ่อของฉันชอบร้องเพลงนมัสการเก่าๆมาก หนึ่งในเพลงโปรดของท่านคือ “ในสวน” สองสามปีก่อนเราจึงร้องเพลงนี้ในงานศพของท่าน มีท่อนรับเรียบง่ายว่า “ทรงดำเนินกับข้าฯและยังตรัสกับข้าฯ ทรงเรียกข้าฯว่าเป็นบุตรพระองค์ ข้าฯมีความสุขสันต์เมื่อคอยอยู่ที่นั่น ซึ่งคนอื่นไม่เคยรู้เลย” บทเพลงนี้นำความสุขใจมายังพ่อของฉัน และมายังตัวฉันเช่นกัน

ซี. ออสติน ไมลส์นักแต่งเพลงบอกว่าเขาเขียนเพลงนี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 1912 หลังจากอ่านพระกิตติคุณยอห์นบทที่ 20 “ขณะที่อ่านในวันนั้น ผมรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในฉากที่เห็นเหตุการณ์น่าตื่นเต้นในชีวิตของมารีย์ ขณะเธอคุกเข่าต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและร้องว่า ‘รับโบนี (อาจารย์)’”

ในยอห์นบทที่ 20 มารีย์ชาวมักดาลาร้องไห้อยู่ใกล้อุโมงค์ฝังพระศพที่ว่างเปล่า ที่นั่นเธอพบชายคนหนึ่งที่ถามเธอว่าทำไมจึงร้องไห้ เธอได้พูดกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์แล้วคือพระเยซู โดยคิดว่าพระองค์เป็นคนสวน ความโศกเศร้ากลายเป็นความชื่นชมยินดี และเธอวิ่งไปบอกเหล่าสาวกว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” (ข้อ 18)

เราเองก็แน่ใจได้เช่นกันว่าพระเยซูทรงเป็นขึ้นแล้ว! ขณะนี้พระองค์ทรงอยู่บนสวรรค์กับพระบิดา แต่ก็ไม่ได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพัง ผู้เชื่อในพระคริสต์มีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ภายใน และโดยพระวิญญาณนั้นเราจึงมีความมั่นใจและชื่นชมยินดีที่รู้ว่าพระองค์ทรงอยู่กับเรา และเราเป็น “ของพระองค์”

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา